วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง: จากปรัชญาสู่การออกแบบการสอน

 
                                                                                                    เฉลิมลาภ   ทองอาจ[*]
          หลังการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรกในช่วงปี พ.ศ. 2540 แนวคิดสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการออกแบบ และการจัดการเรียนการสอนของการศึกษาไทยก็คือ  แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-centered approach) เนื่องจากแนวคิดนี้มีที่มาจากต่างประเทศ เป็นผลให้นักการศึกษาไทยตีความและอธิบายความหมายไปในหลายลักษณะ  ทั้งในแนวทางที่ สุดโต่งเช่นให้ความหมายว่า เป็นแนวคิดที่ให้อิสระและเสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ในการที่จะเรียนรู้ตามความสนใจและความต้องการ  ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็อธิบายว่า หมายถึง การให้ผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ในเรื่องใดๆ ก็ตามด้วยตนเอง โดยครูมีบทบาทเพียงเป็นผู้สนับสนุน หาใช่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ดังที่เป็นมาแต่เดิมไม่ การอธิบายความหมายในหลายลักษณะเช่นนี้  ย่อมทำให้เกิดความสับสนและการขาดซึ่งบรรทัดฐานสำหรับ         การจัดการเรียนการสอน
          เมื่อหลักคิดหรือมโนทัศน์เกี่ยวกับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางบิดเบือนไป      ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน (misconception) เกี่ยวกับ             การออกแบบและการจัดการเรียนการสอน เช่น ครูที่ให้เสรีแก่นักเรียนในการเลือกเรียนตามความสนใจและความต้องการ ก็จะไม่คำนึงถึงเป้าหมายหรือคุณลักษณะผู้เรียนตามที่สังคมต้องการ หรือครูที่เห็นว่านักเรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองทุกเรื่อง ก็จะไม่สนใจการสอนและทิ้งผู้เรียนและห้องเรียนไป เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจมโนทัศน์ทั้งในด้านความหมาย แนวคิดและหลักการของการสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้ครูเข้าใจว่า การสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ  คืออะไร” “มีที่มาอย่างไร”  และ มีคุณค่าอย่างไรแล้ว ประเด็นที่สำคัญคือ จะทำให้ครูเกิดปัญญาว่าจะ สอนอย่างไรและ พัฒนาการสอนของตนเองอย่างไรอีกด้วย ประเด็นหลังนี้นับว่าสำคัญมาก  เพราะการคิดหาวิธีการสอนใหม่ๆ  ย่อมเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการสอนของครูเช่นกัน บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอที่มาของแนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ  เพื่อเสนอหลักการสอนและบทบาทของครูที่จะใช้แนวคิดนี้   
          แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เมื่อพิจารณาที่มาในแง่ของปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้พบว่า มีรากฐานมาจากปรัชญาการศึกษาพิพัฒนนิยม (Progressivism)  ซึ่งมีนักปรัชญาคนสำคัญคือ Dewey (1859 – 1952)  สำหรับ Dewey นั้น เขามีแนวคิดสรุปได้ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น  และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลได้รับเสรีภาพ  ในการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเอง ดังนั้นความรู้ในแนวคิดของ  Dewey จึงเกิดขึ้นจากการที่บุคคลประยุกต์ใช้ประสบการณ์เดิมในการดำเนินการแก้ปัญหาใหม่ (Rowe, 2010: online) การจัดการศึกษาจึงควรมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการเรียนรู้”  (learning process)         ของนักเรียน  มากกว่าความรู้หรือความสามารถที่ครูมี  นักเรียนจะต้องได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ใช้กระบวนการสร้างประสบการณ์จากการได้ลงมือปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งคำถามจากข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้  นักเรียนตามแนวคิดของปรัชญานี้ จึงเป็นทั้งนักแก้ปัญหา (problem solver) และนักคิด (thinker)  โดยครูมีบทบาทในการจัดหรือเตรียมประสบการณ์ที่มีความหมายแก่นักเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (learn by doing) 
          นอกจากพื้นฐานด้านปรัชญาการศึกษาแล้ว  แนวคิดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ (constructivist learning theory) ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธิปัญญานิยม (Cognitivism)  ที่เสนอว่าจิต (mind) จะทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความหมาย (maker of meaning)  ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีจึงเชื่อว่าความรู้ใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่บุคคลสร้างขึ้นจากการได้รับประสบการณ์และการตีความประสบการณ์เหล่านั้น ทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ประกอบด้วยทฤษฎีย่อย ได้แก่ ทฤษฎีการสร้างความรู้เชิงพุทธิปัญญา (cognitive constructivism)   ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดของ Piaget และ Bruner  สำหรับ Piaget นั้น เขาเสนอว่า  การปรับเปลี่ยนมโนทัศน์และการพัฒนาด้านสติปัญญาเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างปัญญาหรือโครงสร้างความรู้ (cognitive structure/schemata) ที่บุคคลมีอยู่เดิม กับประสบการณ์ใหม่ที่รับเข้ามา ในขณะที่ Bruner เสนอแนวคิดว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างกระตือรือร้น (active process) ที่ผู้เรียนสร้างแนวคิดใหม่บนพื้นฐานความรู้ที่มีในอดีตและปัจจุบัน  และผู้เรียนสามารถที่จะขยายความเข้าใจไปมากกว่าข้อมูลที่ตนเองได้รับ เพื่อพัฒนาความเข้าใจส่วนบุคคลให้มีความลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีการสร้างความรู้เชิงสังคม  (social constructivism) ซึ่งเสนอโดย Vygotsky  ทฤษฎีนี้อธิบายสรุปได้ว่า  การเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ มิได้อาศัยแต่เพียงตัวผู้เรียนเท่านั้น  แต่จะต้องอาศัยความช่วยเหลือของบุคคลที่มีความสามารถ ด้วยเหตุนี้  ครูจะต้องใช้วิธีการเสริมสร้างศักยภาพ (scaffolding) เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้สามารถปฏิบัติงานและบรรลุซึ่งความสำเร็จ แทนที่จะปล่อยให้ผู้เรียนปฏิบัติงานเพียงลำพัง (Feldman และ McPhee, 2008: 54-56)
          เมื่อพิจารณาบทบาทของผู้เรียนและผู้สอน  ตามทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ข้างต้น ผู้เรียนจึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ในฐานะที่เป็นนักสำรวจที่กระตือรือร้น (active discoverers) โดยมีเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ (knowledge construction)            จากภายใน  มิใช่ให้ได้มาซึ่งความรู้ (knowledge acquisition) จากภายนอก ครูจะไม่ละทิ้งผู้เรียนให้เรียนรู้เพียงลำพัง แต่จะมีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นและอำนวยความสะดวก โดยจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมเพื่อท้าทายให้ผู้เรียนได้ลงมือแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติจริง นักเรียนต้องได้รับโอกาสให้ประยุกต์ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เรียนกับสถานการณ์จริง  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในการคิดระดับสูง สำหรับหลักการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้สามารถสรุปได้ดังนี้ (Hein, 1991: online)
                   1.  การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างกระตือรือร้น (active process) ผู้เรียนใช้ประสาทสัมผัสในการรับข้อมูลและสร้างความหมายจากข้อมูลนั้น  (constructs meaning) มิใช่การรอรับข้อมูลความรู้ที่ปรากฏหรือ มีอยู่อยู่แล้ว 
                   2. บุคคลเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ขณะที่กำลังเรียนรู้  (people learn to learn as they learn) การเรียนรู้ประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญคือ การสร้างความหมาย และการสร้าง ระบบของความหมาย
                   3.  กระบวนการสร้างความหมายเกิดขึ้นภายในจิตใจ แม้ว่าการได้รับประสบการณ์ตรง (hands-on experience) หรือประสบการณ์ทางภายภาพจะมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนที่อยู่ในวัยเด็ก แต่การรับประสบการณ์ลักษณะนี้ยังไม่เพียงพอ ผู้เรียนจำเป็นจะต้องได้รับประสบการณ์จากกิจกรรมการสะท้อนหรือไตร่ตรองความคิด (reflective activity) ของตนเอง เท่ากับที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงอีกด้วย
                   4.  การเรียนรู้ต้องอาศัยภาษา  ภาษาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้  จากการวิจัยพบว่า บุคคลพูดกับตนเองขณะที่กำลังเรียนรู้  ดังนั้นในการจัดโปรแกรมหรือสื่อต่างๆ ควรที่จะใช้ภาษาแม่เป็นสื่อที่สำคัญ    
                   5.  การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม (social activity) การเรียนรู้ของปัจเจกบุคคลมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมหรือการแสดงออกของบุคคลอื่นๆ เช่น ครู       หรือเพื่อนร่วมชั้น เนื่องจากการศึกษาในรูปแบบเดิม มักจะใช้การจำแนกหรือโดดเดี่ยวผู้เรียนจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นๆ ให้เหลือแต่เฉพาะความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งที่เรียน ด้วยเหตุนี้  ทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ จึงเสนอว่า  ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นลักษณะที่สำคัญของการเรียนรู้  ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้เรียนสนทนาและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
                   6. การเรียนรู้เกิดขึ้นโดยอาศัยบริบท  บุคคลไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการแยกข้อเท็จจริง ทฤษฎีหรือสิ่งที่มีลักษณะที่เป็นนามธรรมจากบริบทของชีวิตจริงได้   สิ่งที่บุคคลเรียนรู้มักสัมพันธ์กับความเชื่อ หรือความรู้สึกต่างๆ อันเป็นบริบทชีวิตของแต่ละคน    
                   7.  การเรียนรู้ต้องอาศัยระยะเวลา ทั้งนี้เนื่องจากการเรียนรู้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยฉับพลันทันที  การเรียนรู้ที่มีนัยสำคัญ ผู้เรียนจะต้องทบทวนความคิด ไตร่ตรองและสะท้อนความคิดพอสมควร และหลังจากที่ไตร่ตรองหรือสะท้อนความคิดในสิ่งที่              เรียนแล้ว  ผู้เรียนจะตระหนักว่าเกิดผลผลิตของความคิดที่มีคุณค่า 
                   8.  แรงจูงใจเป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้  ผู้เรียนจำจะต้องทราบหรือมีความเข้าใจเสียก่อนว่า ความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นจะสามารถนำไปใช้อย่างไร เพราะหากผู้เรียนไม่ทราบว่า   สิ่งที่ตนเองจะต้องเรียนหรือสร้างเป็นความรู้ของตนเองนั้น  เรียนหรือสร้างไปเพื่ออะไรแล้ว  ผู้เรียนก็จะไม่สนใจที่จะประยุกต์ความรู้ที่ตนเองมีอีกต่อไป 
          หลักการเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ข้างต้น ทำให้สามารถสรุปความหมายของการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่า เป็นการดำเนินการใดๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ หรือสร้างความหมายจากประสบการณ์ที่ได้รับด้วยตนเอง                 โดยใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ได้แก่  การคิดไตร่ตรอง การสืบสอบ  การแก้ปัญหา   การค้นพบและการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น  ขณะที่ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก  ในด้านการจัดสิ่งแวดล้อมและบริบทต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อม  และมีเสรีภาพในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดกระทำข้อมูลที่ได้รับมาอย่างเป็นระบบ     
          นอกจากนี้ หลักการที่กล่าวมาข้างต้นยังทำให้สามารถวินิจฉัยได้ว่า การสอนที่ให้เสรีภาพ หรือให้ผู้เรียนได้เลือกในสิ่งที่ตนเองต้องการและถนัดในทุกเรื่องนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหากแม้ผู้เรียนมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเรียนรู้โดยปราศจากการสร้างความหมาย หรือสร้างเป็นความรู้ของตนเอง ก็ย่อมแสดงว่าผู้เรียนมิได้เป็น ศูนย์กลางแห่งความหมายหรือความรู้ของตนเองแต่อย่างใด แต่ยังคงเป็นผู้รอรับความรู้เฉพาะในเรื่องหรือประเด็นที่ตนเองสนใจ และเป็นสิ่งที่ผู้อื่นได้สร้างหรือเสนอไว้แล้ว การให้เรียนตามที่สนใจจึงไม่อาจเป็นตัวชี้วัดว่า  ผู้เรียนสร้างความหมายหรือความรู้จากประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เรียน  เพราะผู้เรียนอาจจะยังไม่ใช้การคิดไตร่ตรอง (reflective thinking) ซึ่งเป็นความคิดระดับสูง ในการประเมินปัญหาและประเมินวิธีการที่ใช้แก้ไข ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีความลุ่มลึกลงไปลงไปกว่าเพียงความชอบ-ไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยด้านอารมณ์เท่านั้น  นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องเสรีภาพที่ควรให้แก่ผู้เรียน  แท้ที่จริงมิใช่การให้เสรีภาพใน สิ่งหรือ เนื้อหา”  ที่จะเรียน แต่เป็นเสรีภาพแห่งปัญญา (freedom of intelligence) ดังที่ Dewey (1997: 59-61)  กล่าวไว้ในหนังสือ Experience and Education สรุปได้ว่า เสรีภาพเพียงประการเดียวที่มีความสำคัญยิ่งคือ เสรีภาพทางปัญญา ที่ผู้เรียนจะได้เสรีภาพในการสังเกตและฝึกหัดตัดสินใจ  (ในการจัดกระทำกับข้อมูลหรือปัญหา-ผู้เขียน)  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าภายในเป็น อย่างยิ่ง ดังนั้นครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชี้แนะ สั่ง หรือทำตนราวกับว่าตนเองเป็นหัวหน้า มาสู่การเป็นผู้นำกลุ่มในการทำกิจกรรม    
          นอกจากพื้นฐานด้านปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้แล้ว  แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ยังได้รับการขับเคลื่อนและผลักดันจากข้อบังคับด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศ  สำหรับที่มาในด้านการยกย่องและให้สิทธิแก่เด็กและเยาวชนนั้น สามารถนับย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1989  ในการประชุมกำหนดปฏิญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก (the convention on the rights of the child)  ขององค์การ  UNICEF  ได้เสนอหลักการที่สำคัญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน   เป็นที่มาให้ทุกประเทศต้องดำเนินการจัดการศึกษา  โดยคำนึงถึงหลักการเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของเด็กและเยาวชน สรุปได้ดังนี้ (The office of the united nations high commissioner for human rights: 2007: online)
                   1.  เด็กทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตน ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา  ความพิการหรือความผิดปกติ  หรือข้อจำกัดในลักษณะอื่นใดจะต้องไม่เป็นข้อจำกัดที่จะมาขวางกั้นในการคุ้มครองสิทธิ 
                   2.  การปฏิบัติ การกระทำหรือการตัดสินใจใดๆ จะต้องมุ่งความสนใจมาที่เด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรกว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบใดๆ จากการตัดสินใจนั้นหรือไม่    และเด็กจะต้องได้รับความคุ้มครองในทุกกรณี เช่น ในภาวะสงคราม  การปฏิรูปเศรษฐกิจ  เป็นต้น
                   3.  เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิในการอยู่รอดและการพัฒนา ด้วยการเข้าถึง       การบริการพื้นฐานและโอกาสในการบรรลุซึ่งศักยภาพของตนเอง  นโยบายแห่งรัฐและกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กข้อนี้ในทุกกรณี
                   4.  มุมมองของเด็กจะต้องได้รับความเคารพ  ความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของเด็กในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เป็นศูนย์กลางในการตระหนักในสิทธิของพวกเขา
          สำหรับแนวคิดและหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย เกี่ยวกับการศึกษา ปรากฏหลักการที่จัดเจนในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542   ในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตราที่ 22 ที่ระบุว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ”  และในมาตราที่ 24 ยังได้กล่าวถึงหลักการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของการสอนก็จะพบว่า หลักการนี้ก็คือหลักการสอนของครู และบทบาทที่ครูจะต้องปฏิบัติ  ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2546: 7-8)
                   1.  จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
                   2.  ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์  และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
                   3.  จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ฝึกการปฏิบัติให้     ทำได้  คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
                   4.   จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุล รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา
                   5.  ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ  สภาพแวดล้อม  สื่อการเรียน  และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้  รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
                   6.  จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่  มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
           จะเห็นได้ว่า  ความเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพเรียนรู้ได้ และการตัดสินใจใดๆ ย่อมต้องพิจารณาโดยมีเด็กหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ปรากฏอยู่ในแนวคิดของกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาทุกระดับของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้  แนวคิดการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจึงมีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ทั้งในด้านเป้าหมาย หลักการ หลักสูตร การสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ โดยเฉพาะประเด็นด้านการออกแบบและการจัดระบบการสอนนั้น ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก  เพราะเป็นระดับปฏิบัติการ ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด  ผู้เรียนจะสร้างความรู้ได้จริงหรือไม่ก็อยู่ในระดับนี้  นักการศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจหลักการสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีขอบเขตจำกัดลงมาจากการจัดการศึกษา  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีหลักการที่สำคัญ  ทั้งในส่วนบทบาทของผู้เรียนและบทบาทของครู  สรุปได้ดังนี้  (Eder, Eichelberger และ Friedrich, 2010: online)
                   1.  การกำหนดทิศทางบนความต้องการของผู้เรียน (orientation on the needs of children)  หมายถึง การจัดบทเรียน (lesson) จะต้องดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และได้ใช้ความต้องการของเขา  ตัวอย่างเช่น การให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผน และการออกแบบหัวข้อหรือหน่วย (topics/units) ของการเรียน            การสอน  การให้โอกาสผู้เรียนในการกำหนดโครงสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ของตนเอง ได้แก่  เวลา สถานที่  และเพื่อนที่จะทำงานด้วย (partners) เป็นต้น 
                   2. การเรียนรู้ด้วยการควบคุมตนเองอย่างกระตือรือร้น (active self-regulated learning) หลักการนี้หมายถึง ครูจะต้องจัดการเรียนการสอนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นผู้แสวงหาความรู้อย่างกระตือรือร้น ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อน  สะท้อนและไตร่ตรอง  การเรียนรู้ของตนเอง  วางแผนการเรียนรู้ด้วยความรับผิดชอบ และสามารถที่จะอธิบายการเรียนรู้ของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น  ศึกษาวิจัยและทำงานกับประเด็นทางวิชาการที่สำคัญ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ทำงานอย่างอิสระกับ             หนังสือเรียน  นำเสนอผลการค้นคว้า  ทำงานและอภิปรายในประเด็นทางวิชาการร่วมกับผู้อื่น และสามารถที่จะไตร่ตรองผลงานของตนเอง 
                   3.  การออกแบบบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี (well designed learning environment)  หมายถึง ครูจะต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งผู้เรียนสามารถที่จะปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาสมรรถนะในด้านนิสัยการนำตนเอง (self-directed manner)  ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง  ตัวอย่างเช่น  การออกแบบภาระงาน กิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ  การจัดเตรียมห้องสมุดที่เป็นมิตรแก่ผู้เรียน (friendly libraries)  ห้องเรียน สตูดิโอ  สวนหรือบริเวณสำหรับพักผ่อน
                   4.  การเรียนรู้ด้านสังคมเป็นวิธีการและเป็นเป้าหมาย (social learning as a method and a goal)  หมายถึง การเรียนรู้ของผู้เรียนจะต้องได้รับการออกแบบให้เป็นกระบวนการทางสังคมในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (shared social process)  อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนก็สามารถที่จะนำเสนอความต้องการของตนเองต่อกลุ่ม หรือสามารถที่จะเรียนรู้เพียงลำพังก็ได้  ตัวอย่างกิจกรรมเช่น  การวางแผนร่วมกัน (cooperative planning)   การปฏิบัติงานเป็นทีมและกลุ่ม  การวางรูปแบบองค์กรทางสังคมในลักษณะต่าง เช่น กลุ่มอภิปราย สภานักเรียน  การแสดงตัวอย่างความเคารพผู้อื่นและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  เป็นต้น
                   5.  ผู้เรียนมีความเข้าใจที่กว้างขวางเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและความสามารถของตน  (broad understanding of performance and abilities)  หลักการข้อนี้หมายถึง ผู้เรียนไม่เพียงแต่แสดงการปฏิบัติงานหรือความสามารถตามที่โรงเรียนกำหนดเท่านั้น แต่ยังจะต้องสามารถพัฒนาความสามารถส่วนตัว เพื่อนำมาใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองอีกด้วย ตัวอย่างกิจกรรม เช่น  การพัฒนากลยุทธ์การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful learning strategies) แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ในลักษณะการรับแต่เพียงอย่างเดียว  ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามข้อบังคับของโรงเรียน  มีความรับผิดชอบสมกับวัยวุฒิ  พัฒนาตนเองทักษะหรือความสามารถส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง
                   6.  ครูใช้การประเมินการปฏิบัติเพื่อกระตุ้นนิสัย (addressing performance assessments in an encouraging manner)  หมายถึง การที่ครูจะต้องให้โอกาสนักเรียนในการแสดงศักยภาพหรือความสามารถที่ได้รับการพัฒนา  รวมทั้งการให้ผลป้อนกลับในลักษณะที่เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า นักเรียนจะมีวิธีปฏิบัติงานนั้นให้สำเร็จได้อย่างไร  ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีเครื่องมือสำหรับประเมินตนเองศักยภาพและความสามารถของตนเอง ตัวอย่างกิจกรรม เช่น ให้ผู้เรียนพิจารณาความสามารถของตนเองว่า มีประเด็นใดที่ยังต้องปรับปรุงหรือพัฒนา  จัดทำแฟ้มสะสมงาน (portfolios) เพื่อนำเสนอผลการเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงข้อแนะนำได้รับเพิ่มเติมจากครู  และประเมินการปฏิบัติงานและกระบวนการที่ใช้
                    7.  การสร้างชุมชนของโรงเรียน (conductive school community) หลักการข้อนี้เป็นหลักการเกี่ยวกับการจัดการบริบทของผู้เรียน หมายถึง การที่ผู้บริหารโรงเรียน  ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ประสานความร่วมมือ โดยให้ความเคารพกันและกันในการสร้างชุมชนของโรงเรียน  ตัวอย่างกิจกรรมเช่น  การสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ไว้วางใจกัน ระหว่างครูและนักเรียน   ครูและผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของโรงเรียนอย่างเต็มที่  พัฒนาและคงไว้ซึ่งศักยภาพของครูและนักเรียนในการสร้างและไตร่ตรองความสัมพันธ์ระหว่างกัน
           หลักการต่างๆ ข้างต้น ทำให้สามารถขยายความคิดและเปิดประเด็นมุมมองต่อการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่า  แนวคิดนี้มิใช่แนวคิดเกี่ยวกับ การเรียนการสอนหรือเป็นเรื่องระหว่างครู ผู้เรียน และองค์ความรู้เท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการที่ครูจะออกแบบและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ การวัดประเมิน การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องกับผู้เรียนทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีความสำคัญ  และเป็นศูนย์กลางของการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม จุดเน้นจะอยู่ที่การให้ความสำคัญต่อผู้เรียนในฐานะที่ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้สร้างความหมายจากประสบการณ์ที่ตนเองได้รับ ใช้การพิจารณาไตร่ตรองและสะท้อนความคิดอย่างสุขุมรอบคอบ  มียุทธศาสตร์การแก้ปัญหาและการดำเนินการ ซึ่งเป็นการพิจารณาลงไปในระดับรายละเอียดว่า ผู้เรียนเกิดกระบวนการทางปัญญาอย่างไร ณ ขณะนั้นบ้างส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือบทบาทของครูที่จะต้องเข้ามามี     ส่วนร่วม ในการเสริมสร้างและอำนวยความสะดวกผู้เรียน และจัดการเกี่ยวกับการเรียน     การสอน เพื่อให้เอื้อต่อศักยภาพของผู้เรียนมากที่สุด  ทั้งนี้ ผู้สอนตามทฤษฎีการเรียนรู้      การสร้างความรู้ หรือตามแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ย่อมไม่อาจละทิ้งผู้เรียนให้เรียนรู้ตามลำพังได้ เพราะเป็นการขัดกับหลักทฤษฎี ผู้สอนตามแนวคิดนี้จำจะต้องมีบทบาทใกล้ชิดกับผู้เรียน  ในการที่จะติดตามและหาทางช่วยเหลือผู้เรียน ในส่วนที่ผู้เรียนยังไม่บรรลุซึ่งความสำเร็จ เพื่อให้ก้าวข้ามพ้นอุปสรรคการพัฒนา หรือลดช่องว่างพื้นที่การพัฒนาของผู้เรียนลงให้น้อยที่สุด
_______________________________________
รายการอ้างอิง 
ภาษาไทย 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.  2546.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 [Online].    แหล่งที่มาhttp://www.gad.ku.ac.th/PDF/Legislation/prb_study%     202542(final).pdf

ภาษาอังกฤษ 
Dewey, J.  1997.  Experience and educationNew York: Simon & Schuster.
Eder, F, Eichelberger, H., Friedrich, M. X. 2010. Child-centered education [Online].        Available     from: http://www.koeck-stiftung.at/downloads/paedagogik/child-       centered%20education.pdf
Feldman, J. and McPhee, D. 2008. The Science of Learning and the Art of Teaching.     New York: Thompson.
Hein, G. E. 1991. constructivist learning theory [Online]. Available from: http://www.           exploratorium.edu/IFI/resources/constructivistlearning.html [2010 November, 8].
Rowe, R. 2010.  Progressivism [Online] Available from: http://www.rrowe.net/about-              me/tp/progressivism [2010 November, 9].
The office of the united nations high commissioner for human rights. 2007. Convention on         the rights of the child [Online]. Available from: http://www2.ohchr.org/          english/law/crc.htm [2010 November, 8].




[*] อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม
  นิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น